แดดประเทศไทยที่ใครๆก็มักพูดกันติดปากว่าแสบร้อนเหมือนซ้อมตกนรก บางวันอากาศบ้านเราร้อนเกือบแตะ 40 องศาได้ ความแรงของแสงแดดหรือค่าดัชนี UV ของประเทศไทยในปัจจุบันอาจสูงมากถึง 12.1 หรือถ้าตากแดดด้วยกายแท้ไม่มีการป้องกันใดใดแล้วดัชนี UV มีค่าตั้งแต่ 11 ขึ้นไปก็นับได้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายกับผิวหนังและดวงตาจากการถูกเผาไหม้ในเวลาไม่กี่นาทีได้เช่นเดียวกัน
ถ้าได้เผลอไปอยู่กลางแดดนานๆทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็สามารถทำให้ผิวแห้งไหม้จนลอกได้เหมือนกัน แม้กระทั่งสาวๆที่นิยมผิวสีแทนชื่นชอบการอาบแดดเป็นชีวิตจิตใจ ตัวอย่างเช่น เคลียร์แล้วคนหนึ่งที่อาบแดดกลางแจ้งพร้อมทาครีมกันแดดแล้วแต่ก็ดันเผลอหลับนานๆตื่นมาอีกทีมีอาการผิวไหม้แดด หรือที่เรียกว่า Sunburn นั่นแหละ ผิวแสบจนลอกคราบเป็นงูก็เคยมาแล้ว ไม่ว่าจะเกิดปัญหาผิวไหม้แดดมาจากไหนก็สามารถฟื้นฟูสภาพผิวไหม้ด้วยตัวเองให้กลับมาสุขภาพดีได้เหมือนเดิม พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ระดับความไหม้ของสภาพผิว
ผิวไหม้แดดระดับไม่รุนแรง (First-Degree Burns)
ผิวหนังถูกทำร้ายจากรังสี UV จากดวงอาทิตย์ อาจทำให้มีอาการปวดแสบร้อนและรอยแดงที่มองเห็นได้ชัดเจนบนผิวเรา แต่จะมีผลเฉพาะกับผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ถ้าสัมผัสผิวที่มีอาการแดงอาจเจ็บ และอาจจะลอกเป็นขุยได้เหมือนกัน อาการพวกนี้ไม่รุนแรงมากและสามารถรักษาได้เองที่บ้านได้ใน 3-8 วัน (ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและความมากน้อยของบริเวณที่ผิวถูกทำร้าย) สภาพผิวของแต่ละคนแตกต่างกันดังนั้นต้องสำรวจตัวเองเลยว่าสภาพผิวเรานั้นตอบสนองต่อแสงแดดได้ง่ายมากน้อยขนาดไหน โดยปกติอาการไหม้แดดจะปรากฏหลังจาก 1-6 ชั่วโมง แต่บางคนที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วมีชัดเจนหลังโดนแดดเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้นเอง หากมีอาการเหมือนมีไข้ ตัวมีอุณหภูมิสูงขึ้น เหนื่อยล้า และคลื่นไส้แสบร้อนในผิวมากหรือแน่นหายใจไม่สะดวกควรไปพบแพทย์ดีที่สุด
นี่คือตัวอย่างสภาพผิวไหม้แดดหลังจากแห้งลอกเป็นขุยแล้ว
ผิวเป็นด่างๆ มีเกลื้อนเป็นวงๆทั้งแผ่นหลังสีผิวไม่สม่ำเสมออย่างที่เห็นได้ชัดเจน
ผิวไหม้แดดระดับรุนแรง (Second-Degree Burns)
ผิวหนังแสบร้อน มีรอยแดงและเจ็บปวดไปจนถึงมีการบวมและน้ำพุพองบริเวณกว้างตามผิวหนัง หรือการเปลี่ยนสีขาวบริเวณที่ไหม้เกรียมของผิวหนัง อาจเข้าขั้นชั้นผิวหนังลึกและปลายประสาทได้รับความเสียหาย สภาพผิวที่ไหม้แดดระดับนี้มักจะปวดแสบปวดร้อนมากกว่าและใช้เวลานานกว่าจะหายและฟื้นฟูสภาพผิวให้กลับมาสุขภาพดีเหมือนเดิมได้ และอาจจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนามะเร็งผิวหนัง อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการรักษา
หากว่าอาการหนักมากหรือมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ค่ะ มีไข้ อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น รู้สึกแสบร้อนวูบวาบ เพลียแดด เวียนหัวจะเป็นลม ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดตัวปวดกล้ามเนื้อ สับสนมึนงง เกิดภาวะขาดน้ำ อาการชัก พูดไม่ชัด หายใจเร็วหรือชีพจรเต้นเร็ว หายใจไม่สะดวก และต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษหากรู้ตัวว่ามีประวัติเป็นโรคลมแดดหรือภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heatstroke) ถ้าผิวไหม้จากแดดรุนแรงอาจจะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ขอเล่าเป็นอุทาหรณ์เคสที่เคยเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ครั้งนึงสามีเคลียร์เคยผิวไหม้แดดระดับรุนแรงนี้แหละ ตอนนั้นไปเที่ยวเวียดนามกันแล้วขี่มอเตอร์ไซด์ตากแดดกันเป็นชั่วโมง ทากันแดดที่หน้าแต่ลืมทากันแดดที่แขนเราก็คิดว่าแดดไม่แรงมากคงไม่เป็นอะไร เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงทีก็เริ่มอาการแค่แสบร้อนเบาๆผิวระคายเคือง อาการเหมือนไม่เป็นอะไรมากพอเวลาผ่านไปซักพักเริ่มแสบร้อนเหมือนตัวจะระเบิด ตัวแดงเป็นกุ้งต้มจากการไหม้แดด ฟังดูแล้วอาจจะนึกภาพไม่ออกลองดูภาพตัวอย่างด้านล่างได้ค่ะ ตัวแดงเหมือนกุ้งต้มไม่เกินจริงเลย อาการเหมือนมีไข้ เพลีย ปวดหัวปวดตัวและเมื่อยล้า ผ่านไปประมาณ 3-4 ชั่วโมงผิวก็เริ่มพองเป็นตุ่มน้ำทั้งแขนน่ากลัวมาก ในท้ายที่สุดผิวแห้งลอกทั้งแขนและผิวด่างตกกระสีน้ำตาลเป็นจุดเล็กๆตามแขนจนถึงปัจจุบันนี้เลยค่ะ เวลาผ่านไป 6 ปีเท่าที่สังเกตเห็นรอยกระไม่จางลงแม้ว่าจะดูแลผิวอย่างดีก็ตามเถอะ ตั้งแต่ครั้งนั้นมาเตือนสติตัวเองเสมอว่าอย่าขี้เกียจทากันแดด เข็ดหลาบมากจริงๆ
ปัจจัยเสี่ยง (Risk factors)
ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผิวไหม้แดดมากน้อยแค่ไหน ในกรณีที่เป็นคนผิวขาวโดยพื้นเพ ผิวบอบบาง มีกระ ฝ้า ผิวไวต่อแสงแดด คนที่ต้องทำงานหรือชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เล่นสกี เดินป่า ปืนเขารวมไปถึงการเอาตัวเองไปอยู่กลางแดดจ้าในช่วงเวลาเสี่ยงด้วยที่ค่า UV สูงที่สุดคือระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น. ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงหรือหาตัวช่วยป้องกันแสงแดด เช่น ครีมกันแดด SPF 50++ ใส่เสื้อคลุม กางร่ม เป็นต้น ถึงคนที่มีผิวเข้มจะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำกว่าแต่ไม่ใช่ว่าจะละเลยได้ ก็ต้องป้องกันและดูแลผิวให้เพียงพอเพื่อความปลอดภัยจากการถูกแดดเผาจนผิวคล้ำเสีย ผิวไหม้เช่นเดียวกัน
วิธีรักษาผิวไหม้แดดด้วยตัวเอง
1. อาบน้ำเย็น หรือเปิดน้ำไหลผ่าน ประคบเย็น (อย่าเอาน้ำแข็งมาประคบโดยตรง) อาจใช้แผ่นประคบเย็นประคบบริเวณรอบๆผิวที่อักเสบ หรือแช่น้ำอุณภูมิห้องช่วยคลายความร้อนและลดการอักเสบของผิวบริเวณที่ไหม้แดดได้
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำไปมากจากผิวไหม้แดด ค่อยๆจิบเรื่อยๆเป็นระยะดีกว่าการดื่มปริมาณที่มากเกินไปในครั้งเดียว
3. ว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณเพื่อช่วยลดการอักเสบ ยับยังการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและแบคทีเรีย ลดอาการบวมแดง แสบร้อนบริเวณที่ผิวไหม้จากแดดในระดับที่ไม่รุนแรงมาก เพิ่มความชุ่มชื้นช่วยบรรเทาอาการ และยังช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูผิว
หากต้องการใช้ว่านหางจระเข้แบบสดจากธรรมชาติ แนะนำเลือกตัดใบหนามาลอกเปลือกเอาส่วนสีเขียวออก และล้างยางสีเหลือง (ส่วนนี้ทำให้คัน) ล้างออกให้หมด อาจจะนำมาแช่น้ำเพื่อทำความสะอาดอีกรอบแล้วน้ำมาปั่นก็ใช้ทาได้แล้ว หรืออีกวิธีคือปั่นเสร็จนำไปแช่เย็นเอาไว้แล้วนำมาทายิ่งเห็นผลดีไม่แพ้กัน
ถ้าต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้ที่หาซื้อได้ตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ไม่ใส่น้ำหอมแต่งกลิ่นสามารถใช้แทนกันได้ เราพกเจลว่านหางจระเข้ไปด้วยทุกทริปเที่ยวเลย ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานดีและทาเจลหลังจากออกแดดเป็นประจำช่วงที่เที่ยวทะเลผิวไม่เบิร์นหรือแห้งตลอดทั้งทริปเลยค่ะ
4. ห้ามเจาะ ห้ามแกะ หรือบีบให้น้ำแตกบริเวณที่เกิดแผลพุพองเด็ดขาด และทาครีมฆ่าเชื้อในบริเวณผิวที่ไหม้และปล่อยให้ตุ่มแตกเองตามธรรมชาติ รวมไปถึงตอนที่ผิวแห้งลอกอย่าเอามือไปดึงปล่อยให้มันผลัดออกให้หมดเองไม่อย่างงั้นผิวอาจจะด่างได้นะจ้ะ อดทนเท่านั้นค่ะสาว
5. หลีกเลี่ยงแสงแดดจนกว่าผิวไหม้จากแดดจะหาย ช่วงนี้ผิวบอบบางมาก พักออกแดดจัดไปยาวๆซักระยะนึง หลบแดดได้หลบเบาได้เบา ผิวกำลังอ่อนแอและไวต่อแสง เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวที่ไหม้จากแดดเกิดการระคายเคืองมากไปกว่านี้
6. มาส์กหน้าเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า วิธีเบื้องต้นและรวดเร็วที่สุดที่สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพผิวอย่างรวดเร็วที่สุด ควรเลือกมาส์กที่เติมน้ำให้ผิวและช่วยผลัดเซลล์ผิวอย่างอ่อนโยน ตอนช่วงฮอลิเดย์ที่เคลียร์ต้องอยู่ทะเลและออกแดดทุกวันเคลียร์หน้าเกือบทุกวัน ครั้งละ 20 นาที ผิวหน้าไม่มีแห้งกร้านเลย เลิฟมาก
7. ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อลดระคายเคืองจากการเสียดสี อาจหาผ้าพันแผลพันหลวมๆหากมีแผลที่ภายนอกร่มผ้าหรือแปะกันไว้เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
8. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว อาจใช้ออยล์ชโลมผิวเช้า - เย็นหลังอาบน้ำเสร็จขณะที่ตัวเปียกหมาดๆ ลดอาการผิวแห้งและสูญเสียน้ำ ต้องไม่ลืมทามอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ ทำแบบนี้วนลูปไปเรื่อยๆเดี๋ยวสภาพผิวจะค่อยๆดีขึ้นเองค่ะ
9. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด (มันทำให้ผิวเเห้งกว่าเดิม) ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลัดเซลล์ผิวช่วงนี้ไปก่อน และยิ่งสครับนี่ควรงดจนกว่าสภาพผิวแข็งแรงขึ้นไม่งั้นผิวระคายเคืองน้า
10. ทานยาบรรเทาอาการ พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรืออะเซตามิโนเฟนตามที่เภสัชแนะนำเพื่อบรรเทาอาการปวด ปวดหัว หรือมีไข้
วิธีปกป้องผิวจากการไหม้แดด
วิธีป้องกันง่ายยิ่งกว่าวิธีรักษาฟื้นฟูโดยสรุปสั้นๆต้อง ทาครีมกันแดด หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยครีมกันแดดต้องมีค่า SPF 30 ขึ้นไปและทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมงหากต้องทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้งนานๆ เช่น วอลเล่บอลชายหาด เป็นต้น แม้วันนั้นจะมีเมฆปกคลุมมากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหลังจากว่ายน้ำหรือกิจกรรมใดก็ตามที่ทำให้เหงื่อออกครีมกันแดดอาจค่อยๆหลุดออกระหว่างทำกิจกรรมด้วย
นอกจากนี้อย่าชะล่าใจกับพื้นผิวที่สว่างหรือโปร่งแสง เช่น ทราย น้ำ และหิมะ UV สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน ดังนั้นควรระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย เห็นเคลียร์เป็นสายทะเลเลิฟเวอร์แบบนี้แต่เคลียร์เลือกช่วงเวลาออกแดดนะคะ ถ้าจำเป็นต้องเจอแดดในช่วงเวลาอันตรายจริงๆก็ปิดคลุมมิดเหมือนกันน้าเพราะเคยผิวไหมมาแล้ว ไม่กล้าเก่งกับดวงอาทิตย์แล้วจ้า
สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกปีกกว้าง กางร่ม แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้ากันยูวีเมื่ออยู่กลางแจ้ง
หลีกเลี่ยงการออกแดด ช่วงเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น.
Leave a Reply